ฝ้า

มีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลผสมเทาเข้ม ขอบเขตไม่ชัดเจน มักจะเกิดขึ้นบนใบหน้าบริเวณที่มักโดนแดด ได้แก่ โหนกแก้ม สันจมูก หน้าผาก คาง หรือ เหนือริมฝีปาก มักจะเป็นทั้ง 2 ข้าง  พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ฝ้าสามารถเกิดได้ทั้งในชั้นหนังกำพร้า หรือ อยู่ลึกในชั้นหนังแท้ ซึ่งฝ้าชนิดนี้จะรักษายากมากและตอบสนองต่อการรักษาไม่ดี

สาเหตุทีแน่นอนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากปัจจัยต่างๆดังต่อไปนี้

  1. แสงแดด เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ทั้งรังสี UVA, UVB และ Visible light ล้วนกระตุ้นให้เกิดฝ้า
  2. ฮอร์โมนเพศหญิง สังเกตได้จากที่ฝ้ามักจะเกิดขึ้น หรือ เข้มขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ , คนที่รับประทาน หรือ ฉีดยาคุมกำเนิด
  3. ยารับประทานบางชนิด เช่นในกลุ่มยากันชัก
  4. เครื่องสำอาง หรือ สารเคมีบางชนิด เช่น น้ำหอม หรือสีที่มีอยู่ในเครื่องสำอาง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองในกระตุ้นให้เกิดฝ้าในผู้ใช้บางราย
  5. พันธุกรรม มีรายงานว่าหลายๆครั้งพบว่าคนในครอบครัวเดียวกันมีโอกาสเป็นฝ้าเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันที่แน่นอน
  6. สาเหตุอื่นๆ เช่นโรคบางโรค

1. หาสาเหตุ และ พยายามแก้ไข หรือ หลีกเลี่ยง เช่นการหลบแดด, ทาครีมกันแดดที่ป้องกันทั้ง UVA และ UVB อย่างสม่ำเสมอ, สวมหมวกปีกกว้างหรือกางร่มเมื่อจำเป็นต้องออกแดด, หลีกเลี่ยงการรับประทานยาคุมกำเนิดโดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีกลิ่นหอมรุนแรง

2. ทายาเพื่อรักษาฝ้า การทายาอย่่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง มีความสำคัญมากในการรักษา และ ป้องกันการกลับเป็นซ้ำของฝ้าหลังจากการรักษา

  • ยากลุ่มไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เป็นยาที่จัดเป็นยาหลักในการรักษาฝ้าตามมาตรฐาน ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสี ซึ่งเป็นยาที่มีความระคายเคืองสูง ในช่วงแรกของการทามักจะพบอาการแสบแดงที่ผิวหนัง ยาตัวนี้ควรทาโดยอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ภายในเวลาที่กำหนด เนื่องจากการทายาต่อเนื่องเป็นเวลานานเกินไปอาจจะเกิดผลข้างเคียงได้ โดยทั่วไปแพทย์มักจะให้ทาเป็นระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน และเปลี่ยนเป็นยากลุ่มอื่น
  • Azelaic Acid หรือ ยาในกลุ่ม Retinoid มักจะนำมาใช้ทารักษาฝ้า ร่วมกับ ไฮโดรควิโนน หรือ ใช้ทดแทนในกลุ่มที่ต้องการจะหยุดใช้ไฮโดรควิโนน เพื่อควบคุมอาการและป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ยาทั้งสองตัวนี้มีความระคายเคืองต่อผิวหนังเช่นกัน มักจะพบอาการแสบแดงที่ผิวหนังในช่วงแรก แต่เมื่อทาต่อเนื่องอาการระคายเคืองมักจะลดลง ยาในกลุ่มนี้ยังไม่นิยมใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษาฝ้า เนื่องจากต้องใช้เวลานานกว่าที่ฝ้าจะจาง บางครั้งจึงมีการใช้โดยนำไปรวมกับยารักษาฝ้ากลุ่มอื่นๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
  • ยากลุ่ม Whitening เป็นกลุ่มที่เน้นการลดการสร้างเม็ดสี โดยมักจะไปยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีในขั้นตอนที่แตกต่างกัน ส่วนมากกลุ่มนี้จะมีความระคายเคืองน้อยกว่าสองกลุ่มแรก แต่ผลการรักษาก็จะช้ากว่าเช่นกัน มักจะใช้เป็นยาเสริม หรือ ใช้หลังจากรักษาและฝ้าจางลงแล้วเพื่อควบคุมอาการและป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ได้แก่ Arbutin, Kojic acid, Niacinamide, Licorice, Vitamin C เป็นต้น
  1. ยารับประทาน ในบางรายมีการตอบสนองต่อการรับประทานยาลดการสร้างเม็ดสีกลุ่ม Tranexamic acid ซึ่งมักจะได้ผลดีในฝ้าที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มวิตามินและอาหารเสริมบางชนิด เช่น Vitamin C, Pycnogenol หรือพวก Antioxidants ต่างๆ ซึ่งผลข้างเคียงต่ำ ปลอดภัย แต่งานวิจัยที่สนับสนุนยังมีอยู่ไม่มากนัก
  2. การรักษาด้วยเลเซอร์ จัดเป็นการรักษาเสริม สำหรับฝ้า เพื่อช่วยให้ฝ้าจางเร็วขึ้น แต่ไม่สามารถนำมาเป็นการรักษาเดี่ยวได้ ต้องทำร่วมกับการทายาและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเสมอ
  • Q-Switched Nd:YAG เป็นเลเซอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันที่ใช้ในการรักษาฝ้า เนื่องจากเลเซอร์จำเพาะเจาะลงกับเม็ดสี โดยในการรักษาฝ้า มักจะเน้นการทำเลเซอร์ด้วยพลังงานต่ำๆ ทำต่อเนื่องทุก 2-4 สัปดาห์
  •  Vascular laser ไม่ว่าจะเป็น Pulse dye laser, Spectra Gold 585nm , long pulsed Nd:YAG หรือ Dual yellow เข้ามามีบทบาทเนื่องจากเชื่อว่าฝ้าเลือด หรือ เส้นเลือดฝอยบนใบหน้า จะมีสารที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดสี ทำให้เกิดฝ้าในเวลาต่อมา ดังนั้นการรักษาด้วยเลเซอร์กลุ่มเส้นเลือดจึงถือว่าเป็นการรักษาฝ้าที่ต้นเหตุ และมักจำมาใช้รักษาร่วมกับกลุ่มเลเซอร์เม็ดสี เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของฝ้า